From What Is Before (2014)
การขุดรากฟิลิปปินส์ (อีกครั้ง ของ ลาฟ ดิอาซ)
“ตัวรางวัลเสือดาวทองคำนั้นเป็นทองจริง แต่ก็เทียบได้แค่ร้อยละ 0.01 ของทองที่ (เฟอร์ดินานด์) มาร์กอสยักยอกไป” ลาฟ ดิอาซ (Lav Diaz) พูดติดตลกในการให้สัมภาษณ์ที่ฟิลิปปินส์ หลังจากเขากับบรรดาเพื่อร่วมทีมของ From What Is Before (หรือในชื่อฟิลิปปินส์ Mula sa Kung Ano ang Noon) ยัดรางวัลขนาดใหญ่ถึงสามชิ้น (อีกสองเป็นประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ) ลงกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่องบินกลับจากสวิตเซอร์แลนด์ได้โดยสวัสดิภาพ โดยชิ้นหนึ่งในนั้นห่อด้วยชุดราตรีของนักแสดงนำหญิง ฮาเซล โอเรนชิโอ เพื่อป้องกันการแตกหักเสียหาย “คนทำหนังฟิลิปปินส์ต้องประกวดชนะเทศกาลที่ให้รางวัลเป็นทองติดต่อกันอีกร้อยปี ถึงจะได้ทองที่มาร์กอสขนไปธนาคารสวิสทั้งหมดคืน” กลับมาจริงจังกันเล็กน้อย: เขาอุทิศรางวัลนี้ให้กับพ่อที่พาเขาเข้าโรงหนังตั้งแต่เยาว์วัย, ผู้กำกับหนังในสายประกวดโลการ์โนทุกคน โดยเฉพาะ เปโดร คอสตา และ มาเตียส ปิแญโร การต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์ตลอดมาในประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์เพื่อสันติภาพ “ผมถือเป็นเรื่องดีสำหรับชาวฟิลิปปินส์ สำหรับภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ นี่คือบทพิสูจน์ว่างานของเราทัดเทียมกับคนอื่น”
หลังโด่งดังในฐานะผู้กำกับ ‘หนังช้า’ (Slow Cinema) ลับแลคนสำคัญมานับทศวรรษ หนังของดิอาซเริ่มปักธงตามเทศกาลภาพยนตร์เด่นๆ มากขึ้นนับตั้งแต่ Melancholia (2008) กระทั่งการเดินทางครั้งสำคัญของ Norte, the End of History (2013) หนังความยาว‘เพียง’ 250 นาที ที่ไม่เพียงได้มาถึงคานส์ครั้งแรกในสาย Un Certain Regard แต่ยังเป็น ‘หนังสี’ (ดิอาซมีจุดยืนชัดเจนว่าสำหรับเขา“ภาพยนตร์คือสีขาวดำ” เวลาดูหนังสีที่บ้านยังปรับเป็นขาวดำก่อน)
ที่แม้จะมือเปล่ากลับบ้านแต่ก็ขายสิทธิ์จัดจำหน่ายได้อย่างน่าพอใจ เรียกผู้ชมได้เต็มโรงที่มะนิลาทั้งด้วยศักยภาพของตัวหนังและการสร้างกระแสอันชาญฉลาดของทีมโปรดิวเซอร์ เช่นเดียวกับการฉายสามรอบที่โลการ์โนที่เรียกผู้ชมเต็มโรงพร้อมกระแสในบล็อกกับทวิตเตอร์ของเหล่าขาเทศกาลที่พากันตื่นเต้นและมอบรางวัลเสือดาวทองคำให้ล่วงหน้า (ก่อนที่จะได้รางวัลจริงตามคาด)
กราฟชีวิตการทำงานของดิอาซที่พุ่งสูงทะยานนี้ ทำให้บรรดาแฟนเดนตายของเขาทั้งยินดีระคนเกิดคำถามว่า “หนังของเขาจะเปลี่ยนหรือถูกเปลี่ยนจนสูญเสียตัวตนหรือไม่” โดยเฉพาะเมื่อเขาได้พบเพื่อนร่วมงานกลุ่มใหม่ที่ช่วยเหลือด้านโปรดักชันกับการขายหนังได้มากกว่าก่อน และ From What Is Before ก็คือการโยนคำว่า ‘ไม่’ ตอบกลับไปอย่างหนักแน่นมั่นคง เพราะแม้ว่าหนังจะจัดอยู่ในกลุ่มสั้นของดิอาซ (338 นาที) แต่เขากลับมาทำหนังขาวดำที่เขารัก ไม่เพียงเครื่องมือด้านโปรดักชันที่ทำให้ภาพบนจอแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่จนกลายเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมว่า ‘เข้าถึงง่าย’ ที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา (ขาดเพียงความดิบกร้าวทางภาพและเสียงจากกล้องวิดีโอคุณภาพต่ำที่เราคุ้นเคยในหนังของเขายุคก่อน) หากเรื่องราวที่เล่าก็ยังตอกย้ำตัวตนอย่างชัดเจน มันคือฝันร้ายอันทรงพลังจนชวนให้เราเบือนหน้าหนีของชาวฟิลิปปินส์เช่นที่เคยปรากฏในผลงานเขามาตลอด และข้อที่ทำให้หนังเรื่องนี้อาจสั่นสะเทือนผู้ชมได้มากกว่าครั้งไหนๆ ก็คือ มันเล่าถึงช่วงเวลาที่เปรียบเสมือนปฐมบทของฝันร้ายทั้งหมดที่ฟิลิปปินส์ต้องพบเจอมากว่า 40 ปี ดังที่เราเคยได้รับรู้ทั้งจากหนังของดิอาซ และจากประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้
ในทางหนึ่ง นี่เป็นหนังเรื่องล่าสุดก็จริง มีความเชื่อมโยงกับหนังเก่าของเขามากมายก็จริง แต่ก็เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ยังคงบริสุทธิ์ผุดผ่องต่อความป่วยไข้ของฟิลิปปินส์ในมิติต่างๆ และต่อพลังอันเป็นเอกลักษณ์ในหนังของ ลาฟ ดิอาซ
โดยไม่ได้เจตนา – หนังเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่สามใน ‘ไตรภาคกฎอัยการศึก’ ที่เล่าย้อนหลัง (ซึ่งดิอาซไม่ได้คิดจะให้เป็นไตรภาค) ต่อจากหนังยาว 5 ชั่วโมงที่เขาทำสมัยอยู่อเมริกาอย่าง Batang West Side (2001) และหนังยาว 11.5 ชั่วโมงที่สถาปนาความเป็นออเตอร์ให้เขาในวงการภาพยนตร์โลกอย่าง Evolution of a Filipino Family (2004)…เรื่องแรกนั้นเล่าถึงชีวิตคนฟิลิปปินส์ในเจอร์ซีย์ซิตี ช่วงเวลาหลังการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกที่ยาวนาน 9 ปีของมาร์กอส ส่วนเรื่องถัดมาแสดงภาพของชาวฟิลิปปินส์ทั้งในเมืองบ้านนอกและเมืองหลวงระหว่างที่กฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้และนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดย From What Is Before ย้อนไปก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้น
“หนังเรื่องนี้ยืนพื้นจากความทรงจำตอนเด็ก ย้อนไปช่วงสองปีก่อนประกาศกฎอัยการศึกในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่ดำมืดและหายนะที่สุดที่เราได้เจอ ตัวละครและสถานการณ์ทั้งหมดในเรื่องเคยเกิดขึ้นจริง เคยมีตัวตนอยู่จริงทั้งสิ้น”ดิอาซกล่าว “ผมทำทั้งหมดนี้เพื่อสำรวจสภาวะทางจิตใจทั้งของปัจเจกและส่วนรวมว่าตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ลึกลับและรุนแรงถึงรากครั้งนี้อย่างไร ตั้งแต่ในเชิงสังคมวิทยา ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างดิน น้ำ สภาพอากาศ” ผ่านภาพขาวดำคอนทราสต์ต่ำที่ให้ความรู้สึกคล้ายสีซีเปีย สอดรับกับสุนทรียะแบบวิดีโอหรือฟิล์มบันทึกเหตุการณ์ ที่มักได้รับการอ้างอิงในฐานะบันทึกทางประวัติศาสตร์
ลงรายละเอียดกันอีกสักนิด ตลอดหนึ่งชั่วโมงแรกของหนังคือการสถาปนาหมู่บ้านยากจนแห่งนี้ด้วยภาพเอ็กซ์ตรีมลองช็อต (extreme long shot) ที่กล้องแทบไม่ขยับเขยื้อน พ้นชั่วโมงนี้ไปจึงปรากฏตัวละครหลัก อาเพศเริ่มเกิดต่อชีวิตของผู้คนที่พำนักทำกินอยู่ในหมู่บ้าน และไม่มีทางออกหรือการชำระล้างใดๆ ทั้งต่อตัวละครผู้ทนทุกข์อย่างระยำหรือกับคนดูที่เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานแห่ง ‘ความสามัญ’ ของความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้นและถูกลืมมาตลอดประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ เสียงลมทะเล ชายฝั่งอันสวยงาม โขดหินที่คอยรับแรงกระแทกของคลื่นที่ซัดสาดเข้าหาแผ่นดิน อาจเป็นภาพสวยงามในบริบทอื่น แต่สำหรับหนังเรื่องนี้และตัวละครในหมู่บ้านที่กำลังจะหายไปอย่างช้าๆ หลังจากหนังได้จบลง… นี่คือสัญญาณของพายุใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
“เช่นเดียวกับปรัชญา ภาพยนตร์คือการขุดค้นลงไปหาความจริงหักร้างถางพง ฟื้นฟู และเรียกคืนสิ่งที่สาบสูญ เราต้องเผชิญหน้ากับความป่วยไข้และความกลัวทั้งหมดที่มี กล้าเข้าไปในพื้นที่ตกสำรวจทางประวัติศาสตร์ นอกจากเพื่อเยียวยาตัวผมเองในสังคมเช่นนี้แล้วยังเพื่อตอบคำถามว่า ตอนนี้เราเป็นอะไร? ทำไมเราถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้? ทำไมระบบทุกอย่างถึงตรรกะวิบัติและผิดปกติ? คุณต้องค้นหาความจริงจากอดีต หรือกระทั่งคำลวงของอดีต” ความพร่าเลือนหม่นมัวของอดีตภายใต้คำลวงคือแกนหลักของ From What Is Before “ประวัติศาสตร์ปากเปล่าของคนที่ชีวิตห่างไกลตำรับตำราอาจมีพลังเชื่อมโยงกับอดีตสูง ต่างจากประวัติศาสตร์ตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิงในฐานะความทรงจำร่วมระหว่างเรา ที่บางครั้งก็แก่วิชาการหรือสะอาดสะอ้านจนเกินไป ภายใต้พลังของการทุ่มเทค้นคว้าวิจัย – หน้าที่ของผมในฐานะศิลปินและคนทำงานด้านวัฒนธรรมคือการถ่วงดุลทั้งสองด้านให้ทัดเทียมกัน การเปิดดวงตาของผู้คนนั้นทำได้ด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัวของพวกเขา และทำลายมัน”
ดิอาซกล่าวต่อ “ข้างในจิตวิญญาณของชาวฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยความเศร้าโศก ทุกข์ทรมาน ผมเพียงส่องกระจกให้เห็น ‘สภาพ’ของพวกเราที่ใกล้เคียงกับความตายเหลือเกินทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ มันคือโรคร้ายที่กัดกินเป็นกาฝากอยู่ในร่างกาย แน่นอนว่าการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น แต่รักษาอย่างไรล่ะ? ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นทั้งจากระบบ และเกี่ยวพันกันอย่างเป็นระบบ เหลือเพียงการทำลายระบบเท่านั้นที่จะทำให้เราจัดระเบียบสิ่งต่างๆ เพื่อหลุดพ้นจากสภาวะง่อยเปลี้ยนี้ออกไปให้ได้
“ความกลัวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนไม่อ้าแขนรับความจริงของประวัติศาสตร์มาตลอดกาลสมัย เมื่อเราตระหนักดีถึงการปฏิเสธความจริงและตัวตนเช่นนี้ การเผชิญหน้ากับความกลัว การนำความจริงไปเผชิญหน้ากับเหล่าผู้ปฏิเสธจึงมีเพียงหนทางเดียว – เราต้อง‘ฮาร์ดคอร์’ – ด้วยความหวังว่าเราจะขจัดโลกแห่งความกลัวออกไปจากร่างกาย ความคิด และจิตวิญญาณ”
***จากคอลัมน์ World Cinema โดย ปราชญ์
นิตยสาร BIOSCOPE ฉบับ 152 (เดือนกันยายน 2014)
The post หนังโลกที่เราอยากดู : From What Is Before (2014) appeared first on Mthai Movie.